สืบเนื่องจากงาน mai FORUM 2024: มหกรรมรวมพลังคน mai ครั้งที่ 8 “Opportunity x Growth โอกาสและการเติบโตทางธุรกิจ” ที่จัดขึ้นในวันที่ 22 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามที่ดีจากนักวิเคราะห์ นักลงทุน และผู้สนใจ ในบทความนี้จะกล่าวถึงเนื้อหาในสื่อวิดีโอจากบรรยากาศที่เกิดขึ้นภายในบูทของบริษัท ตั้งแต่ภาพรวมบริษัท อัปเดตผลประกอบการล่าสุด และสาธิตการใช้งานผลิตภัณฑ์ทั้ง 4 กลุ่มของบริษัท
บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติไทยแห่งแรกและแห่งเดียวที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งออกแบบ วิจัย และพัฒนาไมโครชิพสำหรับอุปกรณ์ RFID หรือการระบุตัวตนด้วยคลื่นวิทยุ โดยบริษัทจะเป็นผู้ออกแบบวงจรรวมแล้วไปว่าจ้างผลิต และประกอบเป็นไมโครชิพเพื่อจำหน่ายในแบรนด์ของบริษัท ซึ่งก็คือแบรนด์ SIC โดยบริษัทเป็นต้นน้ำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
ในส่วนของผลประกอบการบริษัทไตรมาสแรกประจำปี 2567 ทำยอดขายได้ 205.2 ล้านบาท ลดลง 6% เทียบกับฐานยอดขายที่สูงในไตรมาส1/2566 โดยยอดขายในไตรมาส 1/2567 ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ไมโครชิพสำหรับระบุตัวตนสัตว์ อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงทำยอดขายในไตรมาส 1/2567 ได้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 45%
กำไรขั้นต้นทำได้ 43% ลดลงเล็กน้อย 2% YoY และ 1% QoQ โดยมาจากเรื่องต้นทุนที่สูงและ สัดส่วนรายได้ผลิตภัณฑ์หรือ product mix ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่อย่างไรก็ตามบริษัทพยายามรักษาระดับกำไรขั้นต้นให้อยู่ในช่วง mid -40s
กำไรสุทธิทำได้ 47.8 ล้านบาท ลดลง 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา (Research & Development) ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อรองรับการออกผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาดอย่างต่อเนื่องในระยะถัดไปตามแผนงานเพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว โดยกำไรสุทธิในไตรมาสนี้เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนยังคงเพิ่มขึ้น 146% QoQ สอดคล้องกับยอดขายที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
โครงสร้างรายได้ตามกลุ่มผลิตภัณฑ์ของบริษัท ณ ไตรมาส1/2567 มีสัดส่วนรายได้ดังนี้ ไมโครชิพสำหรับระบุตัวตนสัตว์ 55% ไมโครชิพสำหรับระบบกุญแจอิเล็กทรอนิกส์สำรองรถยนต์ 12% ไมโครชิพสำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่ม IoT ในภาคอุตสาหกรรม 32% และ ไมโครชิพสำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่ม NFC และอื่นๆ 1%
นอกจากนี้ ภายในงานมีการแนะนำและสาธิตการใช้งานผลิตภัณฑ์ไมโครชิพของบริษัทโดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ ทั้งกลุ่มไมโครชิพสำหรับระบุตัวตนสัตว์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ไมโครชิพของบริษัทในกลุ่มนี้จะไปอยู่ในป้ายลงทะเบียนสัตว์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในสัตว์เศรษฐกิจในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ เช่น วัว แกะ แพะ เพื่อบันทึกข้อมูลของสัตว์แต่ละตัว อาทิ สายพันธุ์ ปริมาณการให้อาหาร ประวัติการฉีดวัคซีน เป็นต้น
ไมโครชิพสำหรับระบบกุญแจอิเล็กทรอนิกส์สำรองรถยนต์ โดยผลิตภัณฑ์ไมโครชิพของบริษัทในกลุ่มนี้จะไปอยู่ในกุญแจสำรองรถยนต์ โดยไมโครชิพมีจะการเข้ารหัสความปลอดภัยซึ่งฝังอยู่ในลูกกุญแจ (เปรียบเสมือนอุปกรณ์ RFID) ซึ่งหลังจากการไขกุญแจรถยนต์แล้ว เครื่องยนต์จะสามารถทำงานได้ก็ต่อเมื่อได้รับคำสั่งยืนยันตัวจนที่ถูกต้องจากเครื่องอ่าน RFID ซึ่งเป็นกล่องควบคุมที่ติดมากับตัวรถ โดยเป็นการสร้างความปลอดภัยและช่วยป้องกันรถยนต์จากการถูกโจรกรรม
ไมโครชิพสำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่ม IoT ในภาคอุตสาหกรรม โดยไมโครชิพในกลุ่มนี้ของบริษัทสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เช่น ระบบเข้าออกอาคาร สถานที่ ซึ่งประกอบด้วยตัวบัตร (มี tag ติดอยู่) และเครื่องอ่าน (reader) ที่ติดอยู่ตามประตูทางเข้าออกสถานที่ต่างๆ โดยเครื่องอ่านจะอ่านข้อมูลจากบัตรเพื่อบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าออกสถานที่ รวมถึงสามารถเชื่อมโยงกับระบบรักษาความปลอดภัย โดยจะสามารถปลดล็อคประตูได้ต่อเมื่อได้รับคำสั่งยืนยันตัวตนที่ถูกต้องแล้วเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการสาธิตตัวอย่างการใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรมเช่น ผลิตภัณฑ์ไมโครชิพที่สามารถนำไปใช้ในการติดตามการเคลื่อนที่ของแผ่นเวเฟอร์ในสายการผลิตในโรงงานผลิตแผ่นเวเฟอร์
และสุดท้ายไมโครชิพสำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่ม NFC และอื่นๆ โดยตัวอย่างการใช้งานที่บริษัทนำมาสาธิตมีดังนี้ NFC เพื่อป้องกันการปลอมแปลงสินค้ากลุ่ม Luxury brand โดยสามารถนำมือถือมาแตะเพื่อตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์เป็นของแท้หรือไม่ และ NFC สำหรับตรวจวัดค่าเซนเซอร์ เช่น Water Card ใช้สำหรับการทดสอบน้ำดื่มว่ามีสิ่งเจือปนอยู่ในระดับที่ปลอดภัยในการดื่มหรือไม่ Name Card ซึ่งผู้รับสามารถได้รับข้อมูลบนนามบัตรของผู้ให้ผ่านการใช้มือถือแตะที่ name cardแล้วข้อมูลของผู้ให้จะปรากฎขึ้นมาบนมือถือของผู้รับ
ซึ่งเป็นการทดแทนการให้นามบัตรแบบกระดาษ